ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ความเป็นมา
คนชอง ช์อง แปลว่า “คน” ปัจจุบันคำ ๆ นี้ใช้เป็นทั้งชื่อเรียกกลุ่มชนดั้งเดิมของจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และฉะเชิงเทรา และเป็นชื่อภาษาที่พวกเขาใช้พูดกัน ในพจนานุกรมภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2525 มีคำ ๆ นี้บรรจุอยู่ โดยให้ความหมายว่าเป็นชื่อของกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดจันทบุรี แต่ในหมู่คนชองเองนั้น ในเวลาที่ต้องการเน้นความเป็นคนชองของตนกับคนอื่นเขามักจะเรียกตนเองว่า ชึ่มช์อง ซึ่งแปลว่า “คนชอง”
ในภาษาไทยนั้น คำที่ใช้เรียกชาติพันธุ์ชองนั้นมีอยู่เพียงคำเดียว และค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมานานพอสมควร เห็นได้จากคำ ๆ นี้ ปรากฏอยู่ในนิราศเมืองแกลง ของท่านสุนทรภู่ และจดหมายเหตุของรัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสจันทบุรี ยังไม่รวมถึงที่ปรากฏในเอกสารของชาวต่างประเทศ เช่น ปาลเลอกัวซ์ (Pallegoix, 1853) ใช้ว่า Xong และ ครอฟอร์ด (Crawford, 1856) ใช้ว่า Chong และพจนานุกรมภาษาสยามของหมอ บรัดเลย์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2416 ให้นิยามของคำว่า ชอง เอาไว้ด้วย ทั้งหมดนี้น่าจะมีที่มาจาก “ชอง” เดียวกันทั้งสิ้น
เอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวชอง คือ บันทึกของนักการทูตชาวจีนชื่อ โจวต้ากวน ที่มาเยือนราชอาณาจักรเรขมรในช่วง คริสศตวรรษที่ 14 (Chou 1987) ในบันทึกนี้นอกจากโจวจะบรรยายประเพณีต่าง ๆ ในราชสำนักเขมรแล้ว ในหัวข้อที่ว่าด้วย “ทาส” เขายังกล่าวถึงชนพื้นเมืองที่เรียกว่า Chuang หรือ จวง ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ตามป่าเขา และถูกจับมาขายเพื่อใช้สอยเป็นทาสในเรือนของชาวเขมรแต่ก็ไม่อาจหาหลักฐานยืนยันในเอกสารอื่นใดว่า “จวง” คือ บรรพบุรุษของชองที่พบอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีปัจจุบัน