เครื่องมือเครื่องใช้ของคนชอง





หัตถกรรมจากคลุ้ม-คล้า

ต้นคลุ้ม เป็นไม้กอ ที่มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับ คล้า จนมีบางคนเข้าใจว่า คลุ้ม กับ คล้า เป็นไม้ชนิดเดียวกัน คลุ้ม กับ คล้า เป็นพืชอยู่ในวงศ์ (Family) เดียวกัน คือ MARANTACEAE คลุ้ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Donax grandis Ridl. (เต็ม สิมิตินันทน์, สอาด บุญเกิด และคณะ, 2538) ส่วน คล้า ชื่อ Schumannianthus dichotomus Gagnep. (สะอาด บุญเกิด และคณะ, 2536) เมื่อศึกษาโดยการเปรียบเทียบส่วนต่าง ๆ ของ คลุ้ม กับ คล้า จะเห็นความแตกต่างกัน โดยเฉพาะลักษณะและขนาดของลำต้นและใบ ส่วนดอก ผล และเมล็ด หากไม่นำมาจากต้นให้เห็นว่าเป็น คลุ้ม หรือ คล้า จะบอกความแตกต่างได้ยาก การขยายพันธุ์ คล้า จะใช้เหง้า และหัว (ส่วนข้อที่ลำต้น) ขยายพันธุ์ได้ ส่วนคลุ้ม ใช้เหง้าขยายพันธุ์ได้เท่านั้น สำหรับการนำคลุ้ม และคล้า ไปใช้ประโยชน์ ส่วนที่ใช้ประโยชน์มาก ได้แก่ ผิวแก่ของลำต้น ที่นำไปจัดเป็นตอก ใช้สานเป็นภาชนะใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น กระด้ง กระบุง ตะกร้า โดยเฉพาะคลุ้ม ซึ่งเป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่และผิวแข็งกว่าคล้า ใช้แทนไม้ไผ่ได้อย่างดี ส่วนหัวคลุ้ม และ หัวคล้า (ส่วนข้อของลำต้น) เป็นสมุนไพรแก่อาการเครียดช่วยให้นอนหลับ เป็นยาเย็นช่วยกระทุ้งพิษไข้ ดับพิษร้อนแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ จำพวกเหือด หัด อีสุกอีใส นอกจากนั้นยังสามารถนำใบทั้ง คลุ้ม และ คล้า มาใช้ห่อขนมแทนใบตองได้อีกด้วย (“ “คลุ้ม” ในโครงการสวนพฤกศาสตร์”, ม.ป.ป.)

คลุ้มและคล้าเป็นพืชชนิดหนึ่งชอบอาศัยอยู่บนพื้นที่แฉะใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะลำห้วย ลำคลอง และตามป่าเขาที่มีความชื้นสูง คนชองสมัยก่อนจึงมักนำมาใช้จักสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เสื่อ กระบุง กระด้ง หรือทำเชือกมัดสิ่งของเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ปัจจุบันพืช คลุ้ม คล้า ในชุมชนมีปริมาณลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากบริเวณที่มีต้นคลุ้มก่อนได้กลายสภาพเป็นสวนผลไม้ไปเกือบหมด ประกอบกับคนเฒ่าคนแก่ที่ทำจักสานเป็นแต่ไม่สามารถเดินไปหาวัตถุดิบที่อยู่ไกล ๆ ได้ ปัจจุบันคนในชุมชนชองสามารถซื้อหาของใช้เหล่านั้นได้ง่ายตามร้านค้าหรือตามตลาดทั่วไป คลุ้มและคล้าในชุมชนชองจึงถูกลดบทบาทความสำคัญลงไป

ตามธรรมชาติ คลุ้ม และ คล้า สามารถนำมาใช้แทนเชือก และยางยืดทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งหากมีการนำบทบาทหน้าที่ของพืช คลุ้ม และ คล้า กลับมาใช้ในยุคปัจจุบันแทน การใช้เชือกฟาง หรือแทนยางยืดรัดสิ่งของหรือถุงอาหารในชีวิตประจำวัน จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน นอกจากนี้ยังพบว่า คลุ้ม และ คล้า มีรากฝอยที่มีคุณสมบัติสามารถรักษาหน้าดินและสามารถอุ้มน้ำได้ดีตามธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถเป็นเครื่องวัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติในบริเวณนั้น ๆ ได้อีกด้วย อย่างเช่น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาช่อน เป็นต้น นอกจากนั้น บริเวณที่มีรากฝอยของต้นคลุ้ม ต้นคล้า ยังสามารถช่วยกรองน้ำให้ใสสะอาด เวลาที่ชาวชองทำงานเหนื่อย ๆ สามารถดื่มน้ำที่อยู่บริเวณนั้นได้ (สิริรัตน์ ศรีสมบัติ, 2552)

คันกระสุน






คันกระสุนเป็นลูกครึ่งของธนูกับ หนังสติ๊ก รูปร่างเหมือนธนูแต่ใช้ลูกกระสุนปั้นด้วยดินเหนียวเป็นลูกกลม ๆ เหมือนหนังสติ๊ก อาจเป็นเพราะทำได้ยากกว่า พกพาไม่สะดวก ใช้งานยาก

คันกระสุนคันหนึ่งประกอบด้วย คัน สาย และรังกระสุน ตัวคันทำจากไม้ไผ่ ซึ่งต้องเป็นไม้ไผ่ที่แก่ ๆ เพราะมีคุณสมบัติในการสปริงตัวและคืนรูปที่ดี ส่วนสายได้มาจากการนำไม้ไผ่มาเหลาเป็นเส้นเล็ก ๆ จากนั้นจึงนำมาฟั่นให้เป็นเกลียว และรังกระสุน หรือแป้นที่ใช้วางลูกดินจะใช้สายสร้อยซึ่งมีลักษณะคล้ายเถาบอระเพ็ดมาถักเป็นรังขึ้นมา เคล็ดลับในการทำหลังจากเหลาไม้ไผ่ทำเป็นคันเสร็จเรียบร้อย ต้องทดลองน้าวดูความสปริงของไม้ด้วยว่ามีความอ่อนเสมอกันหรือไม่ ถ้าแข็งข้างอ่อนข้างจะทำให้ยิงออกไปไม่ตรงเป้า (สนม ครุฑเมือง, 2534, น.60)

คันกระสุนเป็นเครื่องมือยิงสัตว์มีคันใช้สายโก่งยิงด้วยลูกดินปั้นกลม โดยทั่วไปมักใช้ยิงนกทุกชนิดและยิงสัตว์เล็ก ๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย และปลา เป็นต้น

คันกระสุน คันธนู และคันหน้าไม้ มีลักษณะการทำคล้าย ๆ กัน คือ มีคันสาย และลูกยิง คันจะทำด้วยซอไม้ไผ่ที่แก่จัด โดยตัดลำไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตร เหลาให้เรียวด้านปลายไม้ทั้งสองข้างควั่นหัวท้ายที่ปลายไม้ไว้ เพื่อเป็นบ่ารับสาย ตรงช่วงกึ่งกลางคันกระสุนใช้ไม้เหลามัดด้วยหวายประกบแน่น เรียกว่า กบ เพื่อให้คันไม่หักง่าย ๆ เวลาดึงสาย และเพื่อให้จับได้ถนัด ส่วนสายใช้ส่วนผิวไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นตรงกลางสายผ่าเป็นสองเส้น ทำรังวางลูกกระสุนถักเป็นหวายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็ก ๆ มีร่องลึกสำหรับวางลูกกระสุน เรียกว่า รังกระสุน ซึ่งมีอยู่สองลักษณะ คือ รังกระจาดกับรังหอยโข่ง ทาบลายสายทั้งสองข้างคล้ายกัน รอยควั่นหัวท้ายของ ปลายคัน เมื่อคล้องหูกับปลายคันแล้วสายจะดึงคันให้โก่งงอ (เฉิน ผันผาย, 22 มิถุนายน 2552)

เครื่องสีข้าว ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ฐานสี ฝา และมือโยก ฐานสีประกอบไปด้วยขาตั้งทำด้วยไม้รูปกากบาท จานรองสานจากไม้ไผ่ผสม

ดินโป่งและเกลือเคลือบผสมมูลวัวหรือควายตรงกลางมีช่องว่างสำหรับสามแกนจากส่วนที่ 2 ฝา ประกอบด้วยแถบมีรูกลางสานด้วยไม้ไผ่โดยแบ่งวงกลมบนพื้นดินและมีแกนกลางไปสวมทับแกนของส่วนฐาน ฟันสีจะทำด้วยไม้สานวางระยะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูสลับกัน ส่วนมือโยกนั้นเพื่อป้องกันเม็ดข้าวไม่ให้แตกละเอียดเกินไป (พิน วังศรี, 22 กรกฏาคม 2552)

ยุ้งข้าว ของคนชองนั้นทำมาจากใบระกำหรือใบคันทรงนำมาเย็บเรียงติดกันตัวโครงนั้นทำจากไม้ตีประสานกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูงประมาณ 5 เมตร ข้างล่างฐานจะปูด้วยเสื่อคลุ้มแล้วโรยด้วยใบเงินใบทอง หมากผู้หมากเมีย ใบมะกรูด,มะนาวเพื่อกันตัวมอดมากินข้าว ยุ้งข้าวนี้จะต้องทำก่อนที่จะเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 1 เดือน (ยม สุกใส, 9 มีนาคม 2552)

กระด้ง

กระด้ง (ชองเรียกว่า กระป๋อ) เครื่องมือฝัดข้าวที่ตำแล้ว เพื่อฝัดเอาแกลบหรือ รำข้าว ที่ยังปนอยู่กับข้าวสารออก เป็นเครื่องมือจักสานชนิดหนึ่งที่ทำจากไม้ไผ่ ตรงส่วนขอบกระด้ง ทำด้วยหวายโป่งขดเป็นวงรี ถักติดกับลายสานด้วยหวาย กระด้งนอกจากฝัดข้าวสารแล้วยังใช่เป็นเครื่องใช้ฝัดข้าวเปลือก หรือเมล็ดพันธุ์อย่างอื่นได้ด้วย (แก้ว ธรรมวิริยะ, 22 กรกฏาคม 2552)