ประเพณี วัฒนธรรม

การแต่งงานพิธีใหญ่ (กะตัก หรือ การตั๊ก)

ชาวชองผู้มีฐานะดี เมื่อจะแต่งงานลูกชายหรือลูกสาว มักจะจัดพิธีแต่งงานพิธีใหญ่ซึ่งพิธีต่าง ๆ จะคล้ายกับพิธีเล็ก แตกต่างกันแต่พิธีใหญ่จะมีการเล่นชนวัว ชนควาย ในระหว่างพิธีด้วย การชนวัว ชนควายเป็นการเล่นที่ครึกครื้นมาก กระทำสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี ในระหว่างพิธีแต่งงานของบ่าวสาว จะมีคนสวมเขาวัว หรือเขาควายที่ศรีษะทำลักษณะคล้ายเหมือนอย่างวัวหรือควาย ซึ่งจะมีหลายคนด้วยกัน เที่ยวขวิดสิ่งของต่าง ๆ หรือขวิดกันเองตามใจชอบ ถ้าเจ้าของกลัวสิ่งของตัวเองจะเสียหาย ต้องนำของมาไถ่ ของที่ไถ่นี้อาจจะเป็นเหล้า ขนม หรือเงิน



นมแง

ผู้หญิงชอง ก่อน พ.ศ. 2500 เมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน สามีจะไปหาหมอตำแยทำคลอดฝากครรภ์ไว้ก่อนเมื่อตั้งครรภ์ได้หกเดือน ทารกในท้องจะดิ้น สามีจะต้องต้มยาครรภ์กล่อมกุมารให้ทารกในท้องกิน เพื่อจะให้ทารกในท้องสมบูรณ์ปกติ ยากล่อมกุมาร คือ ต้นเถาว์ยายม่อมทั้งห้าและอื่น ๆ อีก เมื่อตั้งครรภ์ได้แปดถึงเก้าเดือนทารกในครรภ์จะดิ้นแรง จึงทำให้แม่เจ็บปวด จะต้องไปให้หมอตำแยทำการแปรท้อง คือ หมอตำแยจะบีบท้องเบา ๆ เพื่อให้ทารกหันหัวลงตามธรรมชาติ และคลอดง่ายขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ครบเก้าเดือน สามีจะหาไม้ทำฟืนนอนไฟตัดเป็นท่อน ๆ แล้วเอามากองสุมรวมกัน โดยการตั้งขึ้นเป็นกระโจมสักยี่สิบถึงสามสิบท่อนแล้วเอาหนามระกำ หรือหนามหวายขมเอามาสะไว้ เพื่อป้องกันผีกระสือจะมาอาศัยคอยดูดเลือด เมื่อลูกในครรภ์คลอดออกมาเสร็จแล้ว ทำแคร่นอนไฟกว้างประมาณร้อยยี่สิบหรือร้อยห้าสิบ ยาวสองเมตรสูงยี่สิบถึงยี่สิบห้าเซนติเมตร (เฉิน ผันผาย, 2547, น.7)

วิธีการทำคลอด จะมีหมอทำน้ำมนต์ใส่ขัน คือ น้ำมนต์สะเดาะเคราะห์น้ำมนต์พ่นให้ลูกออกง่าย ว่าคาถา ยะโตหัง หนึ่งจบ แล้วหมอทำน้ำมนต์จะพ่นหัวคนท้องเวลามีลมเบ่งและหมอตำแยจะคอยดูคนท้องว่าคนท้องมีลมเบ่งลูกออกมาหรือไม่ หมอตำแยจะคอยดึงทารกออกมาจากช่องคลอดพร้อมกับเอารกเด็กออกพร้อมกัน เมื่อเด็กออกมาแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือด้วยหลอดคม เตรียมเอายากวาดทรางล้วงคอเด็กโดยใช้กระเทียมและเหล้า จากนั้นจะเอารกเด็กคลุกเกลือเอาไปฝังเสีย พร้อมกับเอากระด้งที่เตรียมไว้ทำเบาะเด็กทารกและใช้ผ้าถุงหรือผ้าขาวม้าทำกระโจมคลุมเด็ก เพื่อให้เกิดความอบอุ่นสักระยะหนึ่งก่อน ส่วนแม่เด็กที่คลอดใหม่สามีและหมอตำแยจะต้มน้ำร้อนใส่ใบไพลและให้อาบน้ำ หลังจากนั้นจะให้แม่เด็กขึ้นนอนบนแคร่ที่เตรียมไว้เพื่อจะนอนไฟต่อไป ก่อนจะก่อไฟหมอตำแยจะต้องดับพิษไฟก่อนแล้วจึงให้ แม่เด็กนอนไฟต่อสามวัน โดยต้องนอนหันหน้าเข้าหาไฟ โดยหมอตำแยจะให้แม่เด็กกินยาร้อนคือ จะเอาใบไผ่สีสุกหนึ่งกำ โขลกให้แหลกเคล้ากับเหล้าขาว บีบคั้นเอาแต่น้ำกรองด้วยผ้าให้สะอาดจึงจะให้แม่ลูกอ่อนกินหนึ่งถ้วยตาไล เพียงหนึ่งครั้ง หลังจากนั้นในวันต่อไปแม่ลูกอ่อนจะต้องกินยาร้อนยาดองกับเหล้า เพื่อไล่เลือดเสียที่คลั่งในอู่มดลูกให้หมด (เหียนและบรรจง คามาวาส, 24 เมษายน 2552)

หมอบูรณ์

หมอบูรณ์ คือ หมอที่วินิจฉัยหาสาเหตุของการป่วย ซึ่งไม่รู้สาเหตุของการป่วย คนไข้จะไปให้หมอบูรณ์ทำพิธีเพื่อหาสาเหตุของการป่วย หมอบูรณ์จะเป็นผู้หญิง วิธีบูรณ์ หมอบูรณ์จะใช้มีดเหลาหวาย (จ๊าดกะเถอะ) เอาด้ายสีขาวมัดหัวท้ายมีดคว่ำหน้ามีดลง เอาข้าวสารใส่ไว้บนสันมีดจับด้ายตรงกลางให้มีดแกว่งไปมาเองเล็กน้อย หมอบูรณ์จะพูดเรียกหาว่าคนป่วยจะถูกผีสางอะไร เจ้าที่อะไร เมื่อเรียกถูกชื่อผีหรือเจ้าที่แล้วมีดจะแกว่งเร็วขึ้นและแกว่งไปมาหกคว่ำหกหงาย และจะทำนายจากจำนวนข้าวสารที่เหลืออยู่บนสันมีด ถ้าข้าวสารเหลือคู่จะทำนายว่าผีจะรับอาการป่วยก็จะเบาบาง ถ้าข้าวสารเหลือคี่จะทำนายว่าผียังไม่รับอาการป่วยจะยังไม่ทุเลาและหายช้า คนชองใช้วิธีนี้เป็นการทำนายผู้ป่วยว่าจะหายป่วยช้าหรือเร็ว (ฐิน แสนทะวงษ์, 10 มีนาคม 2552)

ส่งทุ่ง

การทำบุญส่งทุ่งนี้แต่ละหมู่บ้านจะเลือกทำเฉพาะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน 1 แห่ง เช่น ศาลเจ้า ศาลาหมู่บ้าน เป็นต้น จะเลือกวันที่ดี แต่ไม่เกินเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ โดยมีข้อสังเกตว่ามักเลือกประกอบพิธีกรรมบริเวณสถานที่ที่บนหัวทุ่งหรือข้างบนก่อนแล้วทำส่งต่อมาจนกระทั่งถึงสถานที่ใกล้กับท้ายทุ่งเป็นแห่งสุดท้ายหรือป่าช้าเก่า (หนองเต่า) พิธีทำบุญส่งทุ่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ภูตผีที่สิงสถิตตามต้นไม้ ผีทุ่ง ผีนา ที่ช่วยคุ้มครองรักษาให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุขทำมาหากินเจริญงอกงาม ปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง รวมทั้งสร้างความเป็นศิริมงคลและป้องกันสิ่งร้ายที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามพิธีทำบุญส่งทุ่งนี้พบว่าทำกันเกือบทุกหมู่บ้านในอำเภอเขาคิชฌกูฏ และจังหวัดจันทบุรี ทั้งในชุมชนชาวไทยและชุมชนชาวชอง

ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2501 ว่า เมื่อถึงเดือน 5 ชาวชองที่อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี จะทำ “บุญส่ง” เพื่อให้ผีนำเอาโรคภัยไข้เจ็บไปให้พ้นหมู่บ้าน ก่อนทำบุญส่ง 1 วัน จะมีพิธีเรียกว่า “เก็บข้าหลวง” วันนั้นจะมีชาย 4 คน แต่งกายด้วยผ้าสีแดง โพกศรีษะ สวมมงคล มือถืออาวุธ และพาน ชายทั้ง 4 นี้ สมมติว่าชื่อ นายพุด นายซะ นายนะ นายโส ชายทั้งสี่คนนี้จะเข้าไปถามบ้านทุกหลัง จะพูดกับคนในบ้านว่า “ฉันมานานแล้ว มีอะไรขอกินบ้าง คนในบ้านก็จะตอบว่า “ดีแล้ว จะกินอะไรก็หยิบกินเอง” คนทั่ง 4 ก็หยิบกินกันตามชอบใจ ก่อนจะออกจากบ้านจะเอาไข่คลึงที่ขา แขน และหัวเข่าของเจ้าของบ้าน และจะผูกด้ายสายสิญจน์ไว้ที่ข้อมือเด็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ แล้วคลึงลงไปที่ปลายเท้าบอกว่า “ไปละ ความเจ็บอย่าได้ความไข้อย่ามี” นายพุด นายซะ นายนะ นายโส จะหาบของที่ไปได้มาจากบ้านทุกหลังใส่กระบุงจนเต็ม ทั้ง 4 คนไม่เข้าบ้านคงค้างในป่า และช่วยกันทำเกวียน วันรุ่งขึ้นมีพิธีทำบุญที่ได้นัดหมาย ชาวบ้านก็จะมาประชุมกันเพื่อทำบุญ นายพุด นายซะ นายนะ นายโส ก็จะมาที่ทำบุญ ลากเกวียนมาด้วย เมื่อตักบาตรแล้ว ชาวบ้านก็จะช่วยกันเอาไม้มาทำแหลนและควายใส่ลงไปในเกวียนด้วย พวกที่มาทำบุญจะช่วยกันสาดข้าวสารไปยังคนทั้ง 4 ชาวบ้าน 4 คน จะยิงปืนกันคนละ 4-5 นัด แล้วร้องว่า “โรคภัยไปเถิด ผีไปเถิด ขอให้ทุกคนเป็นสุข” นายพุด นายซะ นายนะ นายโส ก็ช่วยกันลากเกวียนเข้าป่าไป

“พิธีทำบุญส่งทุ่งด้วยความเชื่อที่ว่า การที่มนุษย์เกิดมาในโลกนี้ และมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีอันเป็นไปต่างๆ นาๆ นั้นเป็นเพราะมียมฑูตจากยมโลกมาลงโทษมนุษย์ชีวิตความเป็นอยู่ใน แต่ละวัน ของมนุษย์จะมีเหล่ายมฑูตคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด ชะตาชีวิตล้วนขึ้นอยู่กับเหล่ายมฑูต ในรอบหนึ่งปีคณะของยมฑูตจะต้องเดินทางกลับยมโลกเพื่อรายงานบันทึก และผลัด เปลี่ยนให้ยมฑูตชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ในโลกมนุษย์ต่อไปชาวชองทุกคนจะต้องทำบัญชีรายชื่อทรัพย์สินสิ่งมีชีวิตทั้งที่ตายแล้วและยังมีชีวิตอยู่มอบให้แก่คณะยมฑูตนำกลับไปด้วย เพื่อขอความคุ้มครองให้อยู่ดีมีสุขในปีต่อไปพร้อมทั้งมีการเสียภาษีเป็นเสบียงอาหารให้แก่เหล่าคณะยมฑูตที่เดินทางกลับยมโลกด้วย หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวทุก ๆ ปีลูกหลาน ชาวชองในจังหวัดจันทบุรี ระยองและตราดจะมีประเพณีสำคัญที่กระทำกันสืบเนื่องกันมานั่นคือพิธีทำบุญส่งทุ่งหากแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีเรื่องเล่า และรายละเอียดของการประกอบพิธีนี้แตกต่างกันไป พระสี เตชพโล กล่าวว่า “พิธีทำบุญส่งทุ่งคือ พิธีทำบุญส่งเสบียงอาหารให้แก่เหล่ายมฑูตที่ข้างทุ่งข้างทาง เพื่อให้ท่านเดินทาง ไปยมโลกอย่างมี ความสุข ผู้คน ในโลกมนุษย์ก็จะได้มีความสุขด้วย” วันประกอบพิธีนั้นจะไม่กำหนดตายตัวในแต่ละปีแต่ละชุมชนจะนัดหมายกันเองโดยถือเอาวันพระหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเป็นเกณฑ์ในคืนก่อนวัน พิธีทำบุญส่งทุ่ง “คานะพูน่ายคามูน” หรือคณะข้าหลวงอันประกอบด้วยคณะยมฑูตและเหล่าบริวารจะเดินไปบอกให้ทุกคนได้รู้ว่ายมฑูตจะกลับยมโลกแล้ว ใครมีเคราะห์กรรม อันใดให้บอกมาจะได้นำเคราะห์กรรมนั้นกลับไปโดยการนำไข่ไก่มาลูบไล้ตามร่างกายแขนขาเพื่อเรียกสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากร่างกายยมฑูตก็จะขอให้แต่ละบ้านช่วยกันบริจาค เสบียงอาหารเพื่อใช้ในการเดินทางในครั้งนี้ด้วย ชาวบ้านก็จะนำพวกผักสด ปลา พริก เกลือ ข้าวสาร หมู เป็ด ไก่ ตามที่ตนอยู่บริจาคให้กับคณะของยมฑูตนี้ เหล่าบริวารของยมฑูต ก็จะหาบสิ่งของที่ได้รับบริจาคมานั้นนำไปยังบริเวณที่จะประกอบพิธีทำบุญ ซึ่งได้ตกลง กำหนดพื้นที่ในการประกอบพิธีกันไว้ล่วงหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่อยู่นอกหมู่บ้าน จากนั้นจะช่วยกันหุงหาอาหารและนอนพักค้างคืนกันที่นั่นสิ่งของที่ได้มานั้นห้ามนำไปใช้ในการอื่นและห้ามคณะของยมฑูตและเหล่าบริวารกลับไปนอนที่บ้านด้วยจนกว่า จะเสร็จพิธี เช้าวันรุ่งขึ้นชาวบ้านก็พร้อมใจกันนำเอาอาหารคาวหวานและสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีนี้นั่นคือข้าวหลามที่แต่ละบ้านแต่ละครอบครัวจะต้องเผาเองนำมาร่วมในพิธีนี้โดย นิมนต์ให้พระ สงฆ์ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา เสร็จสิ้นพิธีสงฆ์แล้วก็จะรับประทานอาหารร่วมกันหลังจากนั้นทุกคนก็ร่วมใจกันทำพิธีส่งยมฑูต ในการประกอบพิธีคณะข้าหลวงจะนำ ใบไม้มา ทำเกวียนจำลองเป็นพาหนะในการเดินทางชาวบ้านจะนำอาหารที่ได้แบ่งไว้มามอบให้และนำรายชื่อสรรพสิ่งของแต่ละบ้านมามอบให้พร้อมทั้งกล่าวว่าขอให้ท่านยมฑูตนำความ ทุกข์ความยากทั้งหลายกลับไปด้วยขอให้ทุกคนมีแต่ความสุขความเจริญ หลังจากนั้นจึงมารับพรจากพระสงฆ์กรวดน้ำแผ่เมตตา เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรม แล้วอาจมีมหรสพ เช่น การเล่นละครชาตรี หรือมีการแข่งขันกีฬา สันทนาการต่างๆ เป็นการเฉลิม ฉลองประเพณีพิธีกรรมนี้ นอกจากนั้นยังมีประเพณีการเล่นผีหิ้ง และประเพณีการเล่นผีโรง

ปัจจุบันนี้ประเพณีการทำบุญส่งทุ่งยังมีขั้นตอนบางอย่างหายไปในแต่ละพื้นที่ เช่น การเดินข้าหลวง เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้มีการลัดขั้นตอนมากขึ้นวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมได้หายไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักเพราะบรรพบุรุษได้คิดและกำหนดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อเอาไว้สอนลูกหลานที่เป็นปริศนาน่าคิดกับวัฒนธรรม