การละเล่น
การเล่นสะบ้า
การละเล่นสะบ้าล้อมีมานานแล้ว เดิมนิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยมากเล่นในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ นอกจากเล่นเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังมีการแข่งขันเอาแพ้เอาชนะกันว่าบ้านใดตำบลใดเป็นผู้มีฝีมือในการเล่นมากกว่ากัน แต่ในปัจจุบันหาผู้ที่เล่นเป็นได้น้อยเต็มที เด็ก ๆ ไม่นิยมเล่น
อุปกรณ์ในการเล่น :
(1) ลูกสะบ้า (เป็นไม้กลึง มีลักษณะเป็นทรงกลมแบนด้านหนึ่งมีลวดลาย ด้านหนึ่งผิวเรียบ ขนาดแล้วแต่ความถนัดของผู้เล่น)
(2) แก่น (หรือไม้ตั้ง)
วิธีการเล่น : ผู้เล่นจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย มักนิยมเล่นฝ่ายละ 5 คนขึ้นไป โดยจะผลัดกันเล่นเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งแพ้ และจะมีท่าต่าง ๆ ในการเล่นมากมาย ซึ่งในแต่ละท่าจะมีกฎเกณฑ์เป็นของตนเอง หากฝ่ายใดสามารถเล่นผ่านท่าแต่ละท่าจนครบเท่าที่กำหนดในการเล่น แต่ละครั้งก่อนจะเป็นผู้ชนะ ระยะที่ตั้งแก่นกับจุดเริ่มต้นต้องห่างกันประมาณ 16 เมตร (หรือแล้วแต่จะกำหนดขึ้นในแต่ละครั้งที่เล่น) ท่าต่าง ๆ ที่นิยมใช้เล่นกันโดยทั่วไป ได้แก่
ท่าที่หนึ่ง อีปิด : คือ ใช้ลูกสะบ้าวางไว้บนหลังเท้าข้างหนึ่ง และเอาเท้าอีกข้างหนึ่งมาเหยียบปิดไว้บนลูกสะบ้า (เท้าทั้งสองจะไขว้กัน) แล้วกระโดดให้ลูกสะบ้าออกทางนิ้วก้อย สามารถแต่งลูกและใช้เท้าปาดลูกสะบ้าได้ แล้วยิงลูกสะบ้าให้ถูกแก่น
ท่าที่สอง อีเปิด : คือ เล่นคล้ายเทกระทะ แต่ต้องให้ลูกสะบ้าออกจากเท้า ท่านี้สามารถเตะลูกได้ ใช้เท้าปาดไปหน้าแก่นและขึ้นเข่ายิงได้
ท่าที่สาม ตาตุ่ม : ใช้มือล้อลูกสะบ้าให้ไปอยู่หลังแก่น เวลาล้อต้องให้ลูกสะบ้าล้อผ่านช่องระหว่างแกนที่ตั้งอยู่ ใช้เท้าปาดลูกสะบ้าให้ใกล้กับด้านหลังแก่นของตัวเอง แล้วใช้นิ้วมือยิงลูกสะบ้าให้ถูกแก่น
ท่าที่สี่ อีนั่ง : ตั้งลูกที่ระยะเริ่มต้นแล้วนั่งลงใช้เท้าข้างใดข้างหนึ่งแตะลูกสะบ้าให้แต่ต้องให้ลูกสะบ้าออกจากเท้า ท่านี้สามารถเตะลูกได้ ใช้เท้าปาดไปหน้าแก่นและขึ้นเข่ายิงได้
ท่าที่ห้า อียืน : ตั้งลูกที่ระยะเริ่มต้นแล้วหันหน้าไปข้างหน้าแล้วใช้เท้าข้างใดข้างหนึ่งแตะลูกสะบ้าให้ออกจากจุดเริ่มต้น สามารถแต่งลูกและใช้เท้าปาดลูกสะบ้าได้ แล้วยิงลูกสะบ้าให้ถูกแก่น
ท่าที่หก อีซ้าย : ตั้งลูกที่ระยะเริ่มต้นแล้วหันหน้าไปทางซ้ายมือแล้วใช้เท้าข้างขวาดีดลูกสะบ้าให้ออกจากจุดเริ่มต้น สามารถแต่งลูกและใช้เท้าปาดลูกสะบ้าได้ แล้วยิงลูกสะบ้าให้ถูกแก่น
ท่าที่เจ็ด อีขวา : ตั้งลูกที่ระยะเริ่มต้นแล้วหันหน้าไปทางขวามือแล้วใช้เท้าข้างซ้ายดีดลูกสะบ้าให้ออกจากจุดเริ่มต้น สามารถแต่งลูกและใช้เท้าปาดลูกสะบ้าได้ แล้วยิงลูกสะบ้าให้ถูกแก่น
ท่าที่แปด อีหลัง : ตั้งลูกที่ระยะเริ่มต้นแล้วหันหลังออกนอกสนามแล้วใช้เท้าข้างใดข้างหนึ่งดีดลูกสะบ้าให้ออกจากจุดเริ่มต้น สามารถแต่งลูกและใช้เท้าปาดลูกสะบ้าได้ แล้วยิงลูกสะบ้าให้ถูกแก่น
ท่าที่เก้า ล้อข้าม : ผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งตั้งลูกตั้งกลางสนามที่เล่น แล้วอีกฝ่ายหนึ่งต้องล้อให้ผ่านลูกตั้งโดยที่ห้ามชนลูกตั้งล้มและห้ามเตะลูก มิฉะนั้นจะถือว่าจ่า แล้วตามไปดีดในระยะที่เราล้อตั้งแต่แรกให้ถูก
ท่าที่สิบ ล้อเป่า : ล้อลูกสะบ้าให้ใกล้ลูกตั้งที่สุดแต่ห้ามให้เลยลูกตั้ง ห้ามถูกลูกสะบ้าของตนไม่สามารถแต่งลูกสะบ้าตามต้องการได้ แล้วใช้นิ้วดีดลูกสะบ้ากับพื้นจนถูกลูกตั้ง
นอกจากท่าที่นิยมทั้งหกท่าแล้วยังมีอีกหลายท่า เช่น ท่าอีเท อีตาตุ่ม อีเข่า อีหนีบ อีหก อีหาบ เป็นต้น ซึ่งจะกำหนดขึ้นเล่นในแต่ละบ่อนสะบ้าของหมู่บ้าน (เฉลียว วรรณภักดี และแบน แสนทะวงษ์, 27 กรกฏาคม 2552)
ละครสด
ละครสด คือ ละครที่ผู้แสดงไม่ได้เตรียมฝึกซ้อมมาก่อน แต่คิดคำพูดและเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นเองเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่ผู้แสดงแต่ละคนไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจะลงเอยอย่างไร ผู้แสดงต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณโต้ตอบรับ – ส่ง กันให้ละครดำเนินต่อ ๆ ไปได้จนกระทั่งจบ
การแต่งกายของการเล่นละครสดจะคล้าย ๆ กับการแต่งกายของละครชาตรี (เท่งตุ๊ก) ตรงที่มีชฎาครอบไว้บนศรีษะ แต่ละครสดนี้จะนุ่งโจงกระเบน ตัวพระจะสวมถุงเท้า ตัวนางอาจจะมีกำไลข้อเท้าคล้องอยู่ ใช้ผ้าหรือเข็มขัดรัดเอว (แก้ว ธรรมวิริยะ, 22 กรกฏาคม 2552)
ประโยชน์ของละครสด : ผู้แต่งได้ฝึกสมาธิมีปฏิภาณไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แนวทางในการแสดงละครสด ควรเริ่มด้วยการแสดงแต่กิริยาท่าทางไม่มีบทพูด (Mine Improvisation) หรือที่เรียกกันว่า "ละครใบ้" (Pantomime) เมื่อแสดงท่าทางแบบละครใบ้โดยไม่มีบทพูดแล้วจึงค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาให้มีบทสนทนาโต้ตอบอาจจะเริ่มจากบทสนทนาสั้น ๆ ก่อน แล้วค่อยขยายให้ยาวขึ้น
สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจกำหนดขึ้นในการแสดงละครสด มีดังต่อไปนี้
(1) สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นตลาด มีตัวละครอันประกอบด้วยคนซื้อ คนขาย (พ่อค้า-แม่ค้า) ขโมย ตำรวจ เป็นต้น
(2) สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นสนามเด็กเล่น โดยมีตัวละครประกอบด้วยเด็ก ผู้ปกครอง เช่น พ่อ แม่ พี่ พยาบาล โดยสมมุติให้เด็กเล่นแข่งขันกันในสนามเด็กเล่น แล้วเกิดอุบัติเหตุหกล้มบาดเจ็บขาหัก เพื่อน ๆ ช่วยกันแก้ปัญหาด้วยการโทรศัพท์บอกพ่อแม่ พี่เลี้ยง หรือเรียกรถพยาบาลพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาล
(3) สถานการณ์ที่กำหนดให้อยู่ในบ้าน มีตัวละครประกอบด้วยแม่และเด็กประมาณ 3-4 คน โดยกำหนดให้ภายในบ้านมีเด็กวิ่งเล่นกัน 3-4 คน อาจจะเป็นพี่น้องหรือเป็นเพื่อน แล้ววิ่งไปชนโต๊ะล้ม แจกันตกแตก เผอิญแม่กลับมาจึงดุว่าเด็ก ๆ แต่เด็ก ๆ เหล่านั้นต่างเอาตัวรอดถกเถียงกันโทษกันเอง เด็กดีจะสารภาพ แต่เด็กที่ชอบโกหกจะซัดทอดเพื่อน เพื่อให้ตัวเองพ้นผิด ในที่สุดแม่ก็ซักถามจนได้ความชัดเจน หาคนทำแจกันแตกมาลงโทษได้ (แสดงให้เห็นโทษของการพูดโกหก) (นวลจันทร์ ช่างเขียน และหทัยชนก พาญเมือง, 2546)
รำสวด
ลำสวดหรือรำสวด
ลำสวด เป็นการร้องลำนำตามจังหวะการปรบมือ และเครื่องดนตรีประเภทเครื่องประกอบจังหวะ เช่น กลอง กรับ ฉิ่ง และมีการร่ายรำให้เข้ากับจังหวะด้วย
ลำสวด เป็นการแสดงที่นิยมเล่นกันในงานศพเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อยู่เป็นเพื่อนกับญาติมิตรของผู้ตายที่ต้องเฝ้าอยู่ในงานศพ โดยมีทำนองร้องหลายทำนอง เช่น เพลงลำพื้น เพลงลูกทุ่ง เพลงละคร เป็นต้น (เสมียน งามล้วน, 12 มีนาคม 2552)
บทร้องอาศัยจากบทเพลงพื้นเมือง นิทาน ตำนาน บทละคร หรือบทเพลงลูกทุ่งที่นิยมกัน แล้วนำมาดัดแปลงเนื้อร้องตามแต่ความถนัดของผู้แสดง บทละครที่นิยมนำมาใช้ได้แก่ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี สังข์ทอง
ลำสวด เป็นการละเล่นที่มีความเชื้อว่าจะเล่นเฉพาะในงานศพเท่านั้น แต่การถ่ายทอดการเล่นลำสวดนั้นต้องหาสถานที่ ที่มิใช่บ้านของตนเอง เช่น ในสวนนอกบ้าน หรือที่วัดเป็นต้น ปัจจุบันยังมีคณะที่เล่นลำสวดอยู่บริเวณอำเภอท่าใหม่ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี (“ลำสวด, รำสวด”, 2540)
ผีหิ้ง
การเล่นผีหิ้ง ก่อนเล่นต้องเตรียมสถานที่ไว้พอสมควร บ้านต้องกว้างสามารถบรรจุญาติพี่น้องได้อย่างน้อยห้าสิบหรืออาจถึงหนึ่งร้อยคน มีหิ้งเหมือนหิ้งพระโบราณ กว้างราวหกสิบเซนติเมตร ยาวราวเจ็ดสิบเซนติเมตร สองข้างหิ้งต่อไม้ออกไปเหมือนกับงาช้าง เพื่อใช้แขวนสิ่งของได้ บนหิ้งจะมีขนมต้ม ขนมเทียน ขนมอื่น ๆ มากมาย มีเหล้ายาปลาปิ้งไก่หมูเป็ดครบถ้วน มีรูปช้าง รูปม้า แขวนให้เรียบร้อย (ยม หงส์บินและขวิก วรรณภักดี, 6 มีนาคม 2552)
คนทรงผี ต้องเป็นผู้หญิงในตระกูลนั้น แต่งตัวนุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อแขนกระบอก มีผ้าพาดเฉียงที่ไหล่ ใช้ด้ายสีขาวเคียนรอบหัว ปักแซมด้วยดอกไม้รอบหัว ในมือถือจั่นหมาก โยงด้ายสีขาวลงมาจากหิ้ง นั่งพับเพียบ มีอาจารย์กำกับ หรือครูหมอผีเป็นผู้เชิญ สามารถเชิญผีได้ปีละหนึ่งครั้ง ครั้งละสิบสองผีหรือสิบสองครูเท่านั้น
ดนตรีประกอบ มีโทน กรับ ฉิ่ง ตีเป็นจังหวะ เช่นจังหวะ ปะ โท้น ๆ โท้น ปะ โท้น ๆ เป็นต้น
เพลงเชิญผีหิ้ง มีดังนี้
“เชิญเอ๋ยเชิญลง เชิญเจ้าทุกองค์เทวาดาล องค์ใดที่ศักดิ์สิทธิ์ ให้เนรมิตท่านลงมา ลงมาจะกินเอ๋ยเป็ด เสด็จลงมาจะกินไก่ ลงมาตระเว็ดเอ๋ยม้อย ให้ห้อยลงมาตระเว็ดใหญ่ ลงมาอยู่ริงเอ๋ยริง ให้วิ่งลงมาอยู่ไร่ ลงมาตามเทียนเอ๋ยหลัก ให้ปักลงมาตามเทียนชัย เร็ว ๆ เถิดหนาพ่อเอ๋ยแม่เอ๋ย เร็ว ๆ สักหน่อยว่า ขนมนมเนยก็แต่งไว้ องค์นี้จะขึ้นเอ๋ยไป องค์ไหนจะลงมา หน่วงหนักชักช้าไม่ว่ากะไร ระทวยแม่เอ๋ยระทอดเหมือนดังยอดแพงพวย เขาก็รำก็รำเอ๋ยด้วย ไม่งามไม่งามไม่รู้เลย ลุกขึ้นจะนุ่งเอ๋ยผ้า ลุกขึ้นจะทาน้ำมัน แป้งกระแจะจันท์แม่เอ๋ย น้ำมันเฉลิมน้ำมันแป้งทา”
เพลงส่งผี เมื่อผีหิ้งเข้าครบทั้งสิบสองครูแล้ว สุดท้ายของการเล่น คือ การส่งผี
“ส่งเอ๋ยมาส่งเจ้า ไปถึงต้นกระเบาใบดก ส่งไปให้พ้นป่ารก ไปถึงต้นตะบกตะแบกใหญ่”
“จะขอกล่าวถึงในขณะการเล่นผีหิ้ง เมื่อครูหมอเชิญผีเข้าแล้ว คนทรงผีก็จะลุกขึ้นเต้นรำเป็นจังหวะ ยืนขึ้นขนมนมเนย กินหมูเห็ดเป็ดไก่ ดื่มเหล้าที่อยู่บนหิ้งจนอิ่ม หรือกินนานพอสมควร แล้วล้มตัวลงบนตักของครูหมอผี ครูหมอจะใช้คาถาเป่ากระหม่อม ใช้ข้าวสารเสก คนทรงจะลุกขึ้นนั่งพูดจาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบได้ ถามชื่อเสียงเรียงนาม ผีตาอะไร ผียายอะไร เมื่อตายไปแล้วมีความเป็นอยู่อย่างไร รับทุกข์ขนาดไหน สบายก็บอกว่าสบาย ไม่สบายเขาก็บอกว่าไม่สบาย รับโทษทัณฑ์อย่างไรเขาก็จะบอกมา”
“ถ้าเป็นผีพ่อ ผีแม่ เมื่อเห็นลูก ๆ มา เขาจะเรียกลูก ๆ ไปกอดไปรัด แล้วสั่งสอนให้ลูกหลานขยันหมั่นทำมาหากิน อย่าไปทำความชั่ว ถ้าทำชั่วแล้วตายไปจะลำบาก เช่น ลักขโมยสิ่งของผู้อื่น ตายไปแล้วถูกยมบาลลงโทษ ตัดมือตัดเท้าหนแล้วหนเล่าไม่รู้จักจบจักสิ้น”
“ผีตนที่หนึ่งออก ผีตนที่สองเข้า เรียงต่อไปจนครบทั้งสิบสองผี หรือสิบสองครู ผีแต่ละตน กริยาท่าทางไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นผีผู้หญิง กริยาท่าทางจะกระมิดกระเมี้ยนเรียบร้อยคล้ายผู้หญิง แต่ถ้าเป็นผีผู้ชาย กริยาท่าทางจะขึงขังดุจผู้ชาย ในอดีตเป็นคนเช่นไร เมื่อตายไปก็จะแสดงออกเช่นนั้น คนเคยเรียบร้อยเมื่อมาเข้าผีหิ้งก็จะเรียบร้อย คนเคยพูดจาไพเราะ คนเคยพูดจาโผงผางเป็นนักเลง พอมาเข้าผีหิ้งก็จะพูดโผงผางเป็นนักเลงดังเดิม คนชอบกินเหล้าพอมาเข้าผีหิ้งก็จะฉวยขวดเหล้าดื่มหมดเป็นขวด ๆ เลยทีเดียว แต่ก็น่าแปลก คนทรงผีนั้นกินหมดทั้งเหล้ายาปลาปิ้ง หมูเห็ดเป็ดไก่ ขนมนมเนย กินเต็มที่แทบหมดทั้งหิ้ง คนกินขนาดนี้น่าจะอิ่มน่าจะเมามาย พอผีออกไปหมดแล้ว กลับหิวข้าวทันที ไม่อิ่ม ไม่เมาตรงนี้น่าคิดมาก” (พระครูธรรมสรคุณ, 2541, น.17)
“กำหนดการเล่นผีหิ้ง มักจะกำหนดเล่นกันยามกลางคืน ตั้งแต่เดือนห้าถึงเดือนหกของทุกปี บ้านที่มีผีหิ้งอยู่ เมื่อกำหนดวันเล่นแล้ว จะเริ่มส่งข่าวไปตามบ้านพี่น้องที่อยู่ไกล จะบอกข่าวถึงกันทุกคน คนที่อยู่ไกลจะเอาข้าวสารอาหารแห้งติดตัวไปด้วย เอาไปรวมกันที่บ้านเจ้าภาพ จัดงาน มีการหุงหากินอาหารร่วมกันหนึ่งวัน เหมือนวันรวมญาติปีละหนึ่งครั้งนับว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวชอง เพราะญาติที่อยู่ไกลแสนไกลก็จะต้องบอกกล่าวถึงกันหมด อย่างน้อยครอบครัวหนึ่งต้องมีตัวแทนมาหนึ่งคนเสมอ ถ้าครอบครัวหรือญาติคนไหนที่ไม่มา ผีญาติที่เข้าทรงนั้น จะถามหา ถ้า ไม่พบจะถูกด่าทอทันที นี่เป็นความคิดนโยบายอันดีงามของชาวชองที่จะไม่ลืมญาติพี่น้อง”
จะมีการละเล่นในเวลากลางคืน มีการนำมาเล่นที่วัดตะเคียนทองในปี 2546 ซึ่งเป็นหิ้งของตระกูลยายออ น้ำมหาเจริญ (ฉัตรเงิน) หมู่ 3
ผีโรง
จะมีการละเล่นในเวลากลางวัน จะมีการสร้างโรงขึ้นมาภายในบริเวณบ้านของตนเอง แต่ประเพณีนี้มีการละเล่นน้อยลง เพราะเชื่อว่าจะติดลูกติดหลาน หากไม่ทำจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย หลาย ๆ ตระกูลจึงยกเลิกประเพณีการไหว้ผีหิ้งผีโรงไป
การละเล่นผีโรงของวัดตะเคียนทอง เริ่มครั้งแรก (ครั้งที่โม่ย) ในปี 2546 โดยนายจารึก ธรรมวิริยะ นายณรงค์ อาลัย และน.ส.เจตน์จรรย์ อาจไธสง ได้ริเริ่มนำมาละเล่นเพราะเกรงว่าประเพณีจะสูญหายไป เพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีการละเล่น เนื่องจากความเชื่อว่าหากเล่นจะติดไปถึงลูกถึงหลาน หากไม่เล่นจะทำให้เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีความสุข ประกอบกับการละเล่นผีโรงจะเป็นของแต่ละตระกูล (ผีโรงที่นำมาเล่นที่วัดตะเคียนทองเป็นของตระกูลยายเขียว เต่าทอง หมู่ 2) ดังนั้น เมื่อคนเก่าคนแก่ได้เสียชีวิตไปทำให้ขาดคนที่จะเข้ามาร่วมพิธี เช่น ร่างทรง ผู้กำกับวิญญาณ คนเล่นดนตรี รวมถึงปัญหาในการจัดหาอุปกรณ์ในการทำพิธีซึ่งไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เนื่องจากการบอกต่อ ๆ กันมา ทำให้อุปกรณ์บางอย่างหายไป หรือการจัดวางไม่ถูกต้อง คณะกรรมการชองทั้ง 3 คน จึงมีความเห็นว่าเราควรอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ โดยจะทำการไหว้ผีหิ้งผีโรงทุกวันที่ 17 เมษายนของทุกปี
ในปี 2550 มีการละเล่นเป็นครั้งที่ 5 โดยมีผู้ร่วมทำพิธี คือ ป้าเขียว ป้าเหงียม ลุงพุ่ม ฉัตรเงิน ยายใบ ลุงพัน ร่างทรง คือ นางเยา แต่ผีไม่เข้าจึงเปลี่ยนเป็นบุตรสาวของนางเยา ผีไม่เข้า อีกครั้งจึงเปลี่ยนเป็น นายณัฐภัทร์ สุรินทร์วงศ์ (นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาทำวิทยานิพนธ์ที่หมู่ 3 ตำบลตะเคียนทอง) มีผีมาลงร่างทรงเพียงตนเดียว คือ ผีนายรอด ซึ่งเป็นผู้เฝ้าศาลใหญ่ มาบอกว่าทำไม่ถูกต้องผีจึงไม่มา ต้องใช้กระดาษวาดเป็นรูปช้าง รูปม้า ธูป 6 ดอก เทียน 4 ดอก ในปีนี้จึงต้องยุติการละเล่น (เจตน์จรรย์ อาจไธสง, 17 เมษายน 2550)