การประกอบอาชีพ

การทำนา

ก่อนจะทำนาทำไร่จะต้องทำพิธีเลี้ยงศาลนา ศาลไร่ก่อนทุกครั้ง โดยศาลนาจะทำในเดือนสี่ วันพฤหัสบดี จะทำเป็นศาลเล็กมีสี่เสา มุงหลังคาด้วยใบระกำ พื้นปูด้วยฝากไม้ไผ่ ขนาดกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร สูง 1 เมตร ภายในศาลจะมีไม้เตเวจ 2 อัน มัดด้วยด้ายขาวเรียกว่า “เจ้าที่นา” เครื่องไหว้ศาลนา คนไหว้จะต้องนุ่งโสร่ง ไม่สวมเสื้อ มีผ้าขาวม้าพาดบ่า ของไหว้ศาลนาประกอบด้วย ไก่ตัวผู้ที่ตายไม่ตัดหัว 1 ตัว พร้อมเครื่องในไก่ เหล้า 1 ขวด บายศรีปากชาม ขนมลูกโทนใส่ไส้ ขนมป๊อก ธูป เทียน ยาฉุนม้วน หมากพลูจีบ 2 คำ ซึ่งการไหว้ศาลนานั้นจะทำก่อนการทำนา และหลังเก็บเกี่ยวอีกครั้ง

ส่วนศาลไร่นั้นจะทำศาลลักษณะเดียวกับศาลนา แต่จะทำเพียงครั้งเดียวก่อนทำไร่จนกว่าจะเลิกทำ หรือโยกย้ายไปทำไร่ที่ใหม่ หลังจากเลิกทำไร่แล้วหรือจะย้ายไปทำไร่ที่อื่น ผู้เป็นเจ้าของไร่จะทำแสดงเป็นช้างมาเหยียบย่ำทำลายพืชไร่เสีย การที่ทำพิธีไหว้ศาลไร่ ศาลนา เพื่อเป็นการแสดงการบูชาเจ้าที่นั้นเอง (เสมียน งามล้วน, 12 มีนาคม 2552)

ก่อนทำนาจะต้องทำการแรกนาขวัญเสียก่อน โดยการไถแรกนาขวัญ 3 รอบ พร้อมกับมีหมากพลูจีบ 1 คำ จุดธูปเทียนบอกกล่าวพระแม่ธรณี เจ้าที่ทำกินอย่าให้เอาโทษ ข้าวในนาเสียหาย โดยมากจะทำการแรกนาขวัญประมาณเดือนหก วันพฤหัสบดี หรือตรงกับวันขึ้นเก้าค่ำ

ปักดำนา จะต้องลงกล้าปักดำในนาในวันพฤหัสบดี ตามมุมนา 5 ต้น หรือ 5 กอ เสียก่อน ผู้หญิงผู้เป็นแม่บ้านเจ้าของนาจะต้องเป็นผู้เอา หมากพลูจีบไปขอพระแม่ธรณีก่อน (สาลี โภคทรัพย์, 24 เมษายน 2552)

วันที่ข้าวตั้งท้อง เรียกว่า “ปักตาหลิ่วนา” จะทำประมาณกลางเดือนสิบ ซึ่งจะตรงกับวันสารทไทย คนชองจะต้องทำตาหลิ่วรูปแม่พระโพสพกำลังท้องแก่จะออกรวง และทำเครื่องเซ่นประกอบด้วย กล้วย อ้อย ถั่ว งา ส้ม ต่าง ๆ และที่สำคัญ คือ ขนมกระยาสารท ซึ่งปีหนึ่งจะทำเพียงครั้งเดียว พร้อมด้วยหมากพลูจีบ 1 คำ ไปแขวนไว้ที่ตาหลิวและนำไปปักไว้ที่หัวนาและเชิญแม่พระโพสพให้มารับเครื่องเซ่นดังกล่าว เพื่อให้แม่พระโพสพช่วยรักษาไม่ให้เมล็ดข้าวลีบหรือสัตว์ต่าง ๆ มาเก็บกินได้ (เฉลียว วรรณภักดี, 27 กรกฏาคม 2552)

เมื่อข้าวในนาสุกดีแล้ว ก่อนเกี่ยวข้าวชาวนาจะทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง เครื่องเซ่นประกอบด้วย หมากพลูจีบ บุหรี่มวน บอกกล่าวแม่พระโพสพ กล่าวว่า “อย่าเสียใจเลยลูกหลานจะเก็บเกี่ยวเอาไปไว้ในยุ้งฉางให้ปลอดภัยจากปากนกปากกา วัวควายทั้งหลาย” ผู้ที่ไปบอกกล่าวจะเป็นผู้หญิง จากนั้นผู้ที่ทำการเซ่นบอกกล่าวจะเกี่ยวข้าว 1 กำ ก่อนเอาไว้เป็นข้าวแม่พระโพสพในยุ้งใส่กระบุงมีผ้าแดงข้าว เก็บเอาไว้ทุกปี

การเอาข้าวขึ้นยุ้ง หลังจากการเก็บเกี่ยว นวดข้าวเสร็จแล้ว ชาวนาจะนำข้าวขึ้นยุ้งในวันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์ จะมีเพื่อนบ้านร่วมกันทำขวัญข้าวร้องเพลงทำขวัญแม่พระโพสพอย่างสนุกสนานและทำกันมาเป็นประเพณี (สาลี โภคทรัพย์, 24 เมษายน 2552)

การนวดข้าวในลาน ในสมัยก่อนจะใช้ควายนวดข้าวโดยจะนำควายมาเทียมพ่วงกันประมาณ 4-5 ตัว หรือมากกว่าและจะมีเพื่อนบ้านมาช่วยนวดข้าว สงฟาง และมีการร้องเพลงหงส์อ่อน เป็นการร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหญิง เจ้าของบ้านจะหุงข้าวเหนียว และทำแกงไก่เลี้ยงแขกทุกคน ส่วนหนุ่มสาวที่มาเที่ยวจะเล่นจับหางลิง ช่วงรำ ซ่อนผ้า และต่าง ๆ อีกมากมาย (ไกร ขวัญมา, 24 เมษายน 2552)

เมื่อเสร็จจากการเก็บและนำข้าวขึ้นยุ้งหมดทุกบ้านแล้ว จะมีพิธีให้ศาลทุ่งทำพิธีใหญ่ในกลางหมู่บ้านในเดือนสาม ขึ้น 3 ค่ำ ทุกบ้านจะต้องมาร่วมกันให้ศาล จะมีนายขมูลเป็นผู้นำพิธีเซ่นไหว้หนึ่งคน และทำกันเป็นประจำทุกปี และจะยิงปืนสลุต 7 นัด เพื่อให้เจ้าห้วย เจ้าเขา เจ้าท้องที่นารับทราบและมารับเครื่องเซ่นพร้อมกันในวันนั้น ซึ่งชาวบ้านจะทำการเผาข้าวหลามได้ตลอดไปจนถึงฤดูให้ศาลนาในเดือนหก หลังจากนั้นจะทำการเผาข้าวหลามอีกไม่ได้เนื่องจากคนชองโบราณถือว่าในเดือนหกผิดฤดูกาลจะทำให้เจ้าป่าเจ้าเขาไม่พอใจ และปล่อยสัตว์ต่าง ๆ ออกมารบกวนกัดกินทำลายพืชไร่นาข้าวอยู่บ่อย ๆ (บรรทูน ผกามาศ, 10 มีนาคม 2552) โดยการให้ศาลจะให้ศาลท้าวชมพู (หมู่ 5) ซึ่งเป็นการทำบุญที่ประทับก่อน แล้วจะให้ศาลที่ชำเคราะห์ (หมู่ 6) แล้วจะทำบุญส่งทุ่งที่หมู่ 2 เพื่อส่งผีตายโหง ตายห่า กลับบ้าน โดยผู้ทำพิธีในอดีต คือ นายรวย เต่าทอง (หมู่ 2) เป็นผู้ทำพิธีส่งทุ่ง เมื่อนายรวยเสียชีวิต ไม่มีใครทำพิธี จึงเหลือเพียงการทำบุญเลี้ยงพระเท่านั้น ไม่มีการทำรถเหมือนในอดีต (พัด งามพร้อม, 29 ธันวาคม 2552)

ปัจจุบันพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้ทำกันแล้ว และนับวันจะสูญหายไปเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนประกอบกับมีการประกอบอาชีพมากมายหลายอย่าง ความเป็นสังคมแบบเก่าเปลี่ยนแปลงไป ขาดการสืบทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นก่อนสู่เยาวชนรุ่นหลัง ทำให้วัฒนธรรมอันดีงามที่มีค่ายิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้สูญหายไป

การทำน้ำมันยาง

ในการทําน้ำมันยาง ผู้ทําจะต้องเดินทางเข้าไปในป่าที่มีต้นยาง จากนั้นใช้ “ขวานบูลู” ซึ่งเป็น ขวานคมแคบแบบดั้งเดิมของชาวชอง ขุดต้นยางให้เป็นโพรง แล้วนําใบไม้มาเผาเพื่อรมควันภายในโพรงนั้น จากนั้นจึงไปตักน้ำมันยางมารวมกันในบ่อเพื่อทําการกรองอีกครั้ง ซึ่งผลผลิตของน้ำมันยางที่ได้นั้น เป็นที่ต้องการของตลาดในเมืองจันทบุรี นอกจากนั้นกากที่เหลือจากการทําน้ำมันยางยังสามารถนําไปทํามัดไต้ขาย ได้อีกด้วย

การทำกระวาน

การทําสวนกระวานของชาวชองถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า ๓๐๐ ปี ปัจจุบันยังมีผู้ทํา สวนกระวานประมาณ ๔๐ ราย บนพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบอําเภอโป่งน้ำร้อน บริเวณเขาสอยดาวใต้เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตกระวานอันเป็นทั้งเครื่องเทศและสมุนไพรที่สําคัญของประเทศที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน ลักษณะทั่วไปของกระวาน เป็นพืชล้มลุกที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีตามบริเวณภูเขาที่มีความ ชุ่มชื้น มีไม้ใหญ่ปกคลุม ลําต้นมีขนาดสูงใหญ่ อายุยืน สามารถให้ผลผลิตได้นับร้อยปี ส่วนผลและเมล็ด มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร มีรสชาติเผ็ดร้อน นิยมใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร เหง้าอ่อนสามารถดับกลิ่น คาวของเนื้อสัตว์ได้ นอกจากนี้ยังถือเป็นสมุนไพรมีฤทธิ์ขับลมและบํารุงธาตุ ยับยั้งการเจริญเติบโตของ แบคทีเรีย แก้ลมจุกเสียดแน่นท้องได้อีกด้วย ปัจจุบันการทําสวนกระวานถือว่าสร้างรายได้ให้กับชาวสวนเป็นอย่างมาก สามารถขายได้ กิโลกรัมละ ๒๐๐ – ๒๕๐ บาท นอกจากนี้สวนกระวานยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งหนึ่งของ จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวมักมีผู้สนใจเดินทางมาชมวิถีการทํากระวานอีกด้วย