วิถีชีวิตและเศรษฐกิจ

ในอดีต เขตที่อยู่อาศัยของชาวชองนี้เป็นแหล่งกำเนิดของพรรณไม้และเครื่องเทศที่มีราคา เช่น ไม้กฤษณา เร่วหอม และกระวาน เป็นต้น นอกจากนั้นยังเคยเป็นแหล่งผลิตน้ำมันยางจากธรรมชาติซึ่งนำไปใช้ในการเคลือบผิวไม้ หรือนำไปผสมกับชันเพื่อใช้ยาเรือ และยังนำเอาส่วนที่เป็น ขี้โล้ (น้ำมันที่ปนกากตะกอน) ไปทำมัดไต้สำหรับจุดเป็นไฟส่องสว่างได้อีกด้วย แต่หลังจากที่รัฐบาลได้ให้อนุญาตให้มีการสัมปทานป่าไม้ ประกอบกับการบุกเบิกที่ทำกินเพื่อสร้างเป็นสวนผลไม้และพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ ทำให้สภาพแวดล้อมทางกายภาพของชุมชนชองที่เคยแวดล้อมด้วยป่าทึบกลับกลายเป็นแวดล้อมด้วยสวนผลไม้ สวนยางพารา และนา-ไร่ ยิ่งชุมชนที่อยู่ใกล้ตัวเมืองจันทบุรีเข้ามาเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีลักษณะเป็นชุมชนเมืองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ในสมัยก่อนแม้แต่พื้นที่ใกล้เคียงอย่างบ้านตะเคียนทองและบ้านคลองพลูซึ่งมีพื้นที่ป่ากั้นระยะทางห่างเพียงหนึ่งกิโลเมตรผู้คนก็ยังไม่ค่อยเดินทางไปมาหาสู่ ประชากรมีการทำไร่หมุนเวียนโดยทำกินในพื้นที่หนึ่งเพียงปีเดียว จากนั้นก็ปล่อยให้เป็น “ชาก” หรือที่รกร้างว่างเปล่า